17 กุมภาพันธ์ 2559

ชวนอ่าน : หนามกุหลาบ



ป้า Julie Garwood เป็นนักเขียนนวนิยายโรมานซ์ที่ฉันชอบมาก  โดยเฉพาะเรื่องแนวย้อนยุค (แต่เรื่องร่วมสมัยของป้าทำฉันสัปหงกตอนอ่านนะ)  นางเอกของป้ามักจะเพี้ยนนิดๆ,  ตลก แต่มีจิตใจเมตตาระดับสูงสุด   ฉันซึ่งถือว่าจะเป็นนิยายโรมานซ์ทั้งที  ฉากรักต้องอ่านชวนเคลิ้มด้วยนะ  ไม่ใช่เขียนทุกเล่มฉากรัก สเต็ป 1-2-3 แทบจะซ้ำซากเหมือนกันไปทุกเรื่อง... เห็นว่าฉากรักของป้าก็ดี  กำลังดี ไม่น่าเบื่อเลยยิ่งสนุกอ่านนิยายป้า

ปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้  ฉันอ่านนิยายรักเกินสองร้อยเล่มจนจ่อสามร้อยไปแล้วละมัง  แต่ก็ไม่ค่อยจะคิดชวนอ่านในเฟซบุค  ด้วยว่าเรื่องที่แค่อ่านเพลินก็ไม่ได้อยากเล่า  ไอ้เล่มที่ถูกรสนิยมส่วนตัวที่ชอบนิยายรักฉากรักดุเดือดก็ไม่รู้จะเล่าไปทำไม  แต่พออ่านเรื่อง ”หนามกุหลาบ” (For the Roses) ของป้าจูลี่ จบ  ฉันอยากจะยกบางส่วนของนิยายเรื่องนี้มาโพสท์ (อ่านจบมาเดือนกว่าแล้วแต่ขี้เกียจพิมพ์เพิ่ง ได้ฤกษ์วันนี้)     ลองอ่านเรื่องย่อจากปกหลังในรูปนะคะ  เรื่องของเด็กข้างถนนต่างที่มากันมารวมตัวสร้างครอบครัวของนางเอกด้วยกันก็ทำท่าจะซาบซึ้งอยู่แล้ว   ระหว่างที่ผู้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบันที่เมืองบลูเบลล์ ก็ยังมีฉากตัดสลับกับจดหมายที่ ”ลูก”แต่ละคนของมาม่าโรสเขียนถึงแม่อีก  จดหมายแต่ละฉบับในเล่มแสนจะน่ารักและทำให้ใจคนอ่านอบอุ่นไปด้วย 

For the Roses งดงามด้วยหัวใจที่เปิดกว้างต่อความแตกต่าง  มีเมตตา  ...ถ้านิยายรักที่สมัยก่อนฉันเคยเบ้หน้าใส่จะทำให้คนอ่านอบอุ่นและเปิดหัวใจรับความแตกต่างทั้งเชื้อสาย รูปลักษณ์ภายนอก ศาสนา ความเชื่ออย่างที่ครอบครัวนางเอกในเรื่องเป็นแล้วละก็  นิยายรักนี้ก็เทียบชั้นเท่ากับวรรณกรรมขึ้นหิ้งเหมือนกัน  (ไม่นับที่เรื่องนี้ขึ้นหิ้งเฉพาะของนักอ่านนิยายรักของฝรั่งเองด้วย  Romantic Times Reviewers' Choice Award (RT Award) for Historical Romance of the Year -1995)

ฉันขอยกบทสนทนาของครอบครัวนางเอก “แมรี่โรส” กับ “แฮริสัน”-พระเอกที่มีเหตุให้ต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ ณ เมืองบลูเบลล์ที่ฉันชอบมาแปะไว้ตรงนี้    (  เมืองบลูเบลล์ในเรื่อง  ได้ชื่อมาจากโสเภณีนิสัยงามของเมืองชื่อเบลล์  แต่เธอเศร้าเพราะที่จริงเธอไม่อยากประกอบอาชีพนี้และเธอสวมชุดสีฟ้าเสมอ   ชาวเมืองเลยตัดสินใจตั้งชื่อเมืองตนเองว่า “บลูเบลล์”  ---เอากับเค้าสิ  ฉันอ่านแล้วถูกใจเหลือเกิน)

........

แล้วเขาก็นึกได้ว่าแมรี่โรสพูดถึงการเป็นคาธอลิคในบางครั้ง  เธอพูดไม่มีเหตุผล

เดี๋ยวก่อนเขาพูด คุณไม่มีทางเป็นคาธอลิคในบางครั้ง  ต้องเป็นตลอดหรือไม่เป็นเลย  ผมรู้ดี เพื่อนสนิทผมเป็นคาธอลิค

แต่คุณยังคงไม่ชอบ....โคลเริ่ม

แฮริสันไม่ปล่อยให้เขาพูดจบ ผมไม่ได้ไม่ชอบพวกคาธอลิค  ผมเพียงแปลกใจที่พบว่าคุณเป็นคาธอลิค  ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ทำไมเราถึงจะเป็นคาธอลิคในบางครั้งไม่ได้”  ทราวิสถาม

เราเป็นแมรี่โรสยืนกราน

แฮริสันติดสินใจเล่นไปตามเนื้อผ้า  เขาจะอาศัยเหตุผลและความอดทนบังคับให้พวกเขารับรู้ว่าพวกเขาจะล้อเขาเล่นไม่ได้

ก็ได้ เอาเป็นว่าคุณเป็นคาธอลิคในบางครั้ง  ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมว่าเมื่อไหร่

เมษายน  พฤษภาคม แล้วก็มิถุนายนเธอตอบ

เขาไม่กะพริบตา  แล้วกรกฎาคม สิงหาคมและกันยายนละ

ลูเธอแรน”  ทราวิสบอกเขา

แฮริสันประทับใจ   ทราวิสไม่ยิ้มแม้แต่น้อย

แล้วสามเดือนต่อจากนั้นล่ะ

เราก็ต่างไปอีก  เราเป็นแบบทิสต์ หรืออย่างน้อยก็พยายามปฏิบัติตามกฎพวกเขา
แฮริสันทนฟังมาพอ   แมรี่โรส  คุณจะหยุด...

เขากำลังจะถามเธอว่าเธอจะหยุดล้อเขาได้รึยัง  แต่เธอไม่ยอมให้เขาพูดจบ

ไม่  ฉันยังไม่จบ”  เธอขัด   ฉันถึงไหนแล้วนะ

มกราคมโคลเตือน

เป็นยิวเดือนมกราคม  กุมภาพันธ์และมีนาคม  แล้วเดือนเมษา...

เป็นยิวในเดือนมกราคม?” เขาแทบตะโกนออกมา

คุณมีอะไรไม่ชอบศาสนาของพวกยิว”  โคลถาม คุณดูจะมีอะไรไม่ชอบใจอยู่เรื่อย

แฮริสันหลับตาแล้วนับหนึ่งถึงสิบ  แล้วเขาก็พยายามหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในเรื่องนี้
ผมไม่ได้ไม่พอใจ”  เขากระชากเสียง ผมเพียงพยายามเข้าใจพวกคุณ  พวกคุณไม่มีทางนับถือศาสนาทั้งหมดนั่นพร้อมกัน  มันขัดแย้งกับความเชื่อทั้งปวงถ้าคุณยึดมั่นในคำสอนของทุกศาสนาแค่ปีละสามเดือน

อดัมอธิบายในที่สุด เรากำลังเรียนรู้ศาสนาต่างๆให้มากที่สุด  แฮริสัน  เราเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจและนับถือในความเชื่อของผู้อื่น  คุณเชื่อไหมว่าพระเจ้ามีตัวตน

ผมเชื่อ

เราก็เชื่ออดัมตอบ แต่เราไม่ได้เป็นสมาชิกของโบสถ์ไหน

อาจเพราะไม่มีโบสถ์ในบลูเบลล์ดักลาสขัด ชาวเมืองคุยเรื่องสร้างโบสถ์  แต่พวกเขาก็เริ่มเถียงกันว่าจะเป็นแบบไหน  ดังนั้นเลยไม่มีการทำอะไร

คุณอาจถูกเลี้ยงให้โตมาเป็นสมาชิกของโบสถ์เดียวกับพ่อคุณใช่ไหม

ใช่แฮริสันรับ

ตอนเป็นเด็กคุณคงไม่คิดเรื่องไปร่วมกับโบสถ์อื่น  พวกเราไม่มีพ่อคอยชี้นำ เราทำเท่าที่เราจะทำได้ แฮริสัน

เหตุผลของพวกเขาก็ฟังขึ้น  การศึกษาด้วยตัวเองเขาพูด

และความเข้าใจอดัมต่อ

แฮริสันพยักหน้า มีศาสนาต่างๆมากมาย  คุณจะพยายามเรียนรู้ทั้งหมดเลยหรือ

แม้หลังจากเราทุ่มเทจิตใจของเรากับศาสนาหนึ่ง  เราจะยังคงเปิดใจกว้างสำหรับความเชื่อในศาสนาอื่น  ความรู้คืออิสระ และความเข้าใจจะมาพร้อมอิสระ

มีครอบครัวยิวหลายครอบครัวในแฮมมอนด์ เราเยี่ยมเยียนพวกเขาบ่อยๆ  ชาวเมืองบางคนไม่ชอบพวกเขา  พวกเขามักไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ  บางคนถึงกับเยาะหยัน  ความไม่รู้ของพวกเขาเป็นเรื่องน่าอาย  พวกเราไม่ได้เกิดมาเป็นชาวยิว  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเป็นชาวยิวที่แท้จริง  อย่างน้อยก็ตามข้อมูลที่เราได้มาจากครอบครัวชาวยิว  ประเพณีของพวกเขามีความหมายต่อพวกเขามาก  และเราพบว่ายิ่งเรารู้เรื่องความเชื่อของพวกเขามากเท่าไหร่  เราก็ยิ่งสนใจมากขึ้น  ใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อของเขาสมควรได้รับความชื่นชม  ไม่ใช่เยาะหยัน คุณเข้าใจไหม


หนามกุหลาบ (For the Rose)
Julie Garwood : เขียน
พิชญา : แปล
สำนักพิมพ์แก้วกานต์ 

(ฉันอ่านฉบับแปลปี พ.ศ.๒๕๓๙  ปัจจุบันทางสำนักพิมพ์มีฉบับถูกลิขสิทธิ์พิมพ์ใหม่  ปกสวยงามไม่ชวนเขินออกมาจำหน่ายแล้วค่ะ)

15 พฤศจิกายน 2557

ใครๆก็มีครั้งแรก : คราวนี้ก็ครั้งแรกกับนอนสนามบินคันไซ อาบน้ำที่สนามบินคันไซ :)



เจ้าของบล็อกหนีไปเที่ยวมาเมื่อเดือนก่อนค่ะ   ปกติไม่ค่อยอยากเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวญี่ปุ่นของตัวเองเท่าไหร่เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร อาศัยหาข้อมูลไปเรื่อยๆค่ะ  ถูกบ้าง  งงบ้าง หลงบ้าง แต่ในที่สุดก็คิดว่าเอาที่เล่าให้เพื่อนๆใน fb อ่านมาแปะไว้ในบล็อกก็น่าจะดี   ตัวเองได้ข้อมูลมาจากบล็อกเกอร์ที่เชี่ยวเรื่องญี่ปุ่นบ้าง เรื่องเล่าต่างๆในเว็บบ้าง   ถ้าเราเล่าไว้ในโซเชียลมีเดียก็อาจจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจบ้าง  งานนี้ขอก๊อปปี้จาก fb มาแปะเลยแล้วกันนะคะ   ^_^
__________________

ย้อนอดีตเล่าประสบการณ์สักหน่อย  เผื่อใครใช้สายการบินแอร์เอเชียอย่างเราไปลงสนามบินคันไซแล้วมีแผนเที่ยวเกียวโตก่อน  (ตอนนั้นมันใกล้เทศกาล Jidai Matsuri ที่อยากไปดูและถ่ายรูป  จะย้ายมาเที่ยวโอซะกะก่อนก็ไม่ได้)

แน่ละ  ตอนนั้นถึงจะบินตรงแต่กว่าจะถึงสนามบินคันไซก็ 23.50 น.  ถ้าอยากพักโอซะกะ  ผ่าน ตม. สอยกระเป๋าแล้วยังมีรถไฟเที่ยวพิเศษวิ่ง (ตีหนึ่งกว่าก็ยังมี) เข้าตัวเมืองโอซะกะ    แต่ไอ้เราอยากซื้อบัตร icoca+ตั๋วรถไฟ Haruka วิ่งตรงไปเกียวโตในราคาพิเศษสุดๆ (ซึ่งก็ซื้อได้ที่สนามบินเท่านั้น) นี่  จะยังไงดี  ไปนอนโรงแรมใกล้ๆแล้วกลับมาสนามบินคันไซตอนเช้าก็ดูเสียเงินเสียเวลาซ้ำซ้อน   ป้าลุงหัวใจไม่วัยรุ่นแต่งบฯน้อยเลยตัดสินในนอนสนามบิน

ที่สนามบินคันไซ  ถ้ามาถึงก่อนสี่ทุ่ม (เอ๊ะ หรือห้าทุ่ม)  ทางสนามบินมีผ้าห่มให้ยืมด้วยนะคะ   เอาเลย  เลือกเบาะนั่งแล้วหลับเลยค่า   แต่คืนนั้นกว่าเราจะฝ่า ตม.ญี่ปุ่น (ที่คืนนั้นมีขาโหด  พี่แกออกงิ้วจนอิฉันนึกว่ามีใครหนีเข้าเมืองมารึไง) ออกมาก็ตีหนึ่งแล้วเลยไม่ได้ไปรับผ้าห่มเพราะเคาน์เตอร์ปิดแล้ว   แต่เราไม่ได้หมักหมู เอ๊ย หมักหมมโสมมใดๆค่ะ  เพราะเรามีห้องอาบน้ำที่สนามบิน ฮี่ๆๆ   ซึ่งถ้าเสียเงินไม่มากและไวทันจองเก้าอี้ใน KIX Lounge จะเสียค่าบริการใช้ห้องอาบน้ำในราคาพิเศษ (เพราะเสียเงินค่าที่นั่งในเลาจ์ไปแล้ว)   แต่ซอกมุมใน KIX Lounge ที่มีเก้าอี้เหมาะกับยืดตัวนอนสำหรับสองคนป้าลุงโดนสอยตัดหน้าไปแล้ว  เราเลยต้องจ่าย 510 เยนขาดตัว!  ถ้าไม่มีผ้าเช็ดตัวก็เช่าได้เสียตังค์เพิ่มอีกนิดหน่อย ค่ะ (จำไม่ได้เพราะป้าลุงมีผ้ามาเองพร้อม)

510 เยนเป็นค่าอะไรบ้าง...510 เยน   เป็นค่าใช้ห้องอาบน้ำซึ่งเปิดมาจะเจอโต๊ะติดผนังพร้อมโคมไฟให้เรานั่งเพ้อหรือจะงีบหรือจะใช้แต่งตัวก็ได้ 1 ชั่วโมง   ในระหว่าง 1 ชม.  เราสามารถใช้ฝักบัวเปิดน้ำซู่ๆได้ 15 นาที  จะอาบไปสามนาทีแล้วมานั่งหลับแล้วค่อยไปอาบต่ออีกห้ารอบรอบละสองนาทีก็ได้    ป้าลองอาบดู  อู้หู น้ำแรงเฟ้ย  อุ่น สบายมาก  ในห้องอาบน้ำจะมีปุุ่ม start / stop น้ำจากฝักบัว    เวลาฟอกสบู่ก็กดปุ่ม stop หยุดน้ำก็ได้    ป้าทั้งอาบทั้งสระผม  รวมแล้วใช้ไป 4 นาที อาบแบบไวเป็นลิงเลย (แต่สะอาดนะฮะ)  แต่ก็นะ  เสียตังค์ไปแล้ว  ป้าเลยอาบต่อฟอกๆถูๆ  (สบู่เหลวและแชมพูมีให้พร้อมในห้อง  ใช้ตามสบายแต่อย่ากดใส่ขวดกลับบ้านล่ะ)  ได้อาบน้ำอุ่นหลังเดินทางมันช่างฟิน   แต่ถูจนตัวเปื่อยก็เปิดน้ำไป 12 นาทีค่ะ  ใช้ไม่ถึงลิมิตจริงๆ ไม่ไหว หนังกำพร้าจะหลุดแล้ว   สระผมเสร็จ  มีเครื่องเป่าผมให้ด้วย   ขอสารภาพว่าอิป้าออกจากห้องน้ำงามงด  แอบแต่งหน้านิดนึง เผื่อตอนเช้าใครมาเห็นตอนป้าเพิ่งตื่นจะตกใจ

โอ้  กะว่าจะเล่าแค่ว่าที่สนามบินคันไซ  อาบน้ำได้สบายใจแต่ก็ดันพล่ามมายาวมาก  จะมีคนอ่านจนจบไหมเนี่ย  >.<



11 พฤศจิกายน 2557

มีปลาในทะเล มีทะเลในปลา

ไม่ได้อัพ blog นานมาก   นานๆมาทีก็มาอัพรูปวาดของตัวเองไว้เฉยๆอีก

ไว้จะขยันเขียน ขยันเล่ามากกว่านี้ในคราวหน้า  นะ นะ นะ (ย้ำกับตัวเองไว้ดังๆในใจ)  :)


21 กันยายน 2557

ชวนอ่าน : กุหลาบที่หายไป


หายตัวจากบล็อกไปนาน  วันนี้เอาเรื่องหนังสือที่เพิ่งอ่านจบมาแปะไว้ซักหน่อยดีกว่า :)


สำหรับคนที่เคยอ่านเจ้าชายน้อย,  ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน และ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล แล้ว  การได้อ่าน “กุหลาบที่หายไป” เหมือนการทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าตนเองนั้นเป็นใครกันแน่  และถ้าลืมไปแล้วว่าตนเองเคยฟังเสียงกุหลาบได้   นิยายเรื่องนี้คือโอกาสที่จะเรียนรู้วิธ๊ฟังกุหลาบพูดคุยกันได้อีกครั้ง 

นิยายว่าด้วยการเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่งข้ามฟากจากบราซิลไปยังริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรนียนของตุรกีเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตเธอเอง   คนอ่านชอบช่วงที่ อาร์ทิมิสโต้เถียงกับมีเรียม (คนที่ชอบอ่านตำนานปรัมปรา ขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้น่าจะสนุกกับชื่อตัวละครที่ล้อกันไปมาตลอดเรื่อง) เลยขอยกบทสนทนามาเล่าไว้ตรงนี้นิดหน่อย

“ฉันไม่ใช่กุหลาบ ยายดอกไม้โง่!” อาร์ทิมิสพูด “ฉันเป็นเทพี!
“ถ้าการสวม”หน้ากากแห่งความยิ่งใหญ่”นั่นทำให้เธอมีความสุขก็จงอย่าถอดมันออก  สวมเอาไว้ จงพร่ำพูดว่า “ฉัน” แต่จงรู้ไว้ด้วยว่ามีราคาที่ต้องจ่าย  จงรู้ไว้ว่าราคาของการพูดว่า”ฉัน”ตลอดเวลาคือการหลงลืมตัวตนที่แท้จริง...”
........
“เอาละ อาร์ทิมิส...เธอจะทำไหม”
อาร์ทิมิสไม่ตอบ
“ได้โปรด” มีเรียมพูด “เธอจดจำการเป็นดอกกุหลาบได้ใช่ไหม”

และอีกส่วนหนึ่งของนิยายที่คนอ่านชอบมาก  คือ สมการที่ตัวละครตัวหนึ่งยกมาเปรียบเรื่องความเป็นไปได้ในการได้ยินเสียงกุหลาบ  นี่คือการอธิบายสิ่งที่ดูเหนือจริงด้วยคณิตศาสตร์  ....ไม่รู้ว่านักคณิตศาสตร์ตัวจริงจะรู้สึกโรแมนติคกับสมการนี้เหมือนคนอ่านไหม

“ฉันแน่ใจว่าเธอมีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์มากกว่าฉัน  ไดอานา  แต่ฉันก็ยังอยากจะพูดสั้นๆถึงคุณค่าทางคณิตศาสตร์ของสมการนี้ให้เธอฟัง
“ถ้าเราหยิบสมการใดๆขึ้นมา  ๑ หารด้วยตัวเลขอะไรสักตัว...ยิ่งตัวเลขที่นำมาหาร ๑ นั้นเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่  ตัวคำตอบของสมการก็จะมีเลขศูนย์นำหน้าเลขหนึ่งที่อยู่หลังจุดทศนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าเราหาร ๑ ด้วยอินฟีนิตี  คำตอบก็จะมีเลขศูนย์นำหน้าเลข ๑ เท่ากับอินฟินิตี ดังนั้น คำตอบก็จะเป็นศูนย์จุดศูนย์ศูนย์ศูนย์เป็นจำนวนอินฟินิตี  แต่แม้ว่าเราจะไม่เห็นมัน ก็ยังคงมีเลข ๑ อยู่ปลายสุดของคำตอบเสมอ มันจึงเป็นศูนย์ แต่เป็นศูนย์พิเศษที่ลงท้ายด้วย ๑ แม้ว่ามันจะถูกปกปิดด้วยอินฟินิตีจนมองไม่เห็น


“เอาละ ตรงนี้สำคัญมาก ขณะที่สมการบอกเราว่า ความน่าจะเป็นของการทายเพลงถูกด้วยการเดานั้นเท่ากับศูนย์ แต่มันก็บอกใบ้ด้วยว่า ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทายคำตอบที่ถูกต้องออกมา เพราะยังมีเลข ๑ อยู่ตรงท้าย...”

เมื่ออ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้ว   คนอ่านนึกถึงตนเองและนึกขอให้ “ศูนย์พิเศษ” เป็นสมการในหัวใจของคนที่อ่อนล้าค่ะ ...แม้ว่ามันจะถูกปกปิดด้วยอินฟินิตีจนมองไม่เห็น  ความเป็นไปได้แม้เพียง “๑” นั้น ยังคงอยู่ที่ปลายสุดของคำตอบเสมอ

กุหลาบที่หายไป (The Missing Rose)
Serdar Ozkan เขียน
มนทรัตม์ แปล

แพรวสำนักพิมพ์ , ๒๕๕๓

27 สิงหาคม 2557

ชวนอ่าน : เพียงเรามีกัน แค่นั้นพอ (Ensemble, c’ est tout)



“สิ่งที่ทำให้คนเราอยู่ด้วยกันไม่ได้   คือความงี่เง่า   ไม่ใช่ความแตกต่าง”

นิยายความยาวเกือบเจ็ดร้อยหน้าของ Anna Galvada เล่มนี้ ฉันซื้อมาในราคายี่สิบบาท   แต่ความสุขในการอ่านนั้น ถ้าคิดเป็นเม็ดเงินคงมูลค่าหลักแสน   “เพียงเรามีกัน  แค่นั้นพอ”   (Ensemble, c’ est  tout) อัดแน่นด้วยมิตรภาพของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน  อัดแน่นด้วยความรักในสิ่งมีชีวิตที่เรามองเพียงเผินไม่ได้   

นั่นไง “มาร์เกต์ เดอ ลา ดูร์เบลลิเยร์  ฟิลิแบร์ต์ เฌออัน หลุยส์-มารี ฌอร์จ” พ่อหนุ่มร่างโย่งผู้ดีตกยากผู้ครอบครอง (ชั่วคราว) ของแมนชั่นล้ำค่าที่เก่าคร่ำมีทั้งแมลงนอนตายซากกับเครื่องครัวผ่านยุคสมัยหลายรุ่นที่ไม่มีใครขัด      โน่น “กามีย์ “ อาร์ตติสสาวที่มีรับงานทำความสะอาดเป็นอาชีพหลักด้วยร่างผอมเหมือนบรรจุวิญญาณยับๆไว้  แถมยังมีตาวิเศษที่มองทะลุไปถึงความสวยงามของจิตวิญญาณอื่นได้      นั่น “ฟรองก์ “  เชฟหนุ่มกำยำปากจัดแสนอ่อนไหว ผู้รู้สึกว่ากูไม่ใช่ปัญญาชนเหมือนฟิลิแบร์ต์และกามีย์นะโว้ยอยู่เสมอ     และ นี่ไง “โปเล็ตต์” หญิงชราตัวเล็ก ยายของฟรองก์  นางฟ้าประจำสวนที่ต้องถูกกักขังอยู่ในบ้านพักคนชรา    ตัวละครเอกทั้งสี่ที่คนอ่านอ่านไปก็ค่อยๆทั้งรักทั้งลุ้นพวกเขาไป   อ่ะลืมไป  ยังมี ตัวละครโปรดอีกตัว   มาม่าดู ขาใหญ่แห่งทีมแม่บ้านทำความสะอาด ซึ่งมีชื่อจริงแสนไพเราะที่อยากให้อ่านนิยายจนจบเพื่อได้รู้ชื่อแสนไพเราะนั้นด้วยตนเอง

ชีวิตเราทุกคนล้วนแหว่งวิ่นมีรูกันทั้งนั้น    นิยายเรื่องนี้บอกฉันอย่างนั้น    และผู้เขียน -  Anna Gavalda ให้ความเคารพตัวละคร   เคารพรูขาดๆที่หลายครั้งมันทำให้เราอยากร่วงลงมาจากที่สูงเพื่อกระแทกให้วิญญาณหลุดออกจากรูนั้น   ฉันเล่ามาอย่างนี้  บางคนอาจคิดว่านิยายเรื่องนี้มันต้องอ่านไม่มันแน่ๆ แต่ไม่หรอก ถึงมันจะเป็นเรื่องของคนแหว่งวิ่นแค่มันก็มีสีสัน  เป็นนิยายที่ระยิบระยับเลยล่ะ   จะขอยกตัวอย่างความเผ็ดมันและระยิบระยับให้อ่านกันสักนิด

“”ฉันว่า พวกเขาไม่ได้มองสิ่งต่างๆแบบนั้น...ความคิดเรื่องขายไม้จิ้มฟันประจำตระกูลสักอันนึงคงจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมพอๆกับที่นายรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องการเสิร์ฟสลัดผลไม้กระป๋องให้แขกของนายนั่นละ...”

“เวรกรรม และมันก็ไม่ใช่ของดีๆเสียด้วย!  ฉันเห็นกระป๋องเปล่าในครัว...ยี่ห้อลีดเดอร์ไพรซ์! เชื่อเปล่าล่ะ เธอน่ะ อยู่ในปราสาทมีคูล้อมรอบ มีห้อยโคมระย้า อยู่บนเนื้อที่เป็นพันๆไร่อย่างนี้แล้วกินอาหารห่วยๆจากลีดเดอร์ไพรซ์เนี่ยนะ! ฉันไม่เข้าใจล่ะ...ให้พวกยามเรียกตัวเองว่าท่านมาร์คควิส แล้วมาบีบมายองเนสหลอดใส่สลัดผลไม้แบบที่คนจนกินกัน สาบานเลย รับไม่ได้ว่ะ...”

“เอาน่า ใจเย็น มันไม่ได้ร้ายแรงอะไร...”

“ร้ายสิ ร้ายแรงเลยละ แม่ง! ร้ายแรงสิ! มันหมายความว่ายังไง  การสืบทอดมรดกให้กับลูกๆ ขณะที่ตัวเองพูดกับพวกเขาดีๆยังไม่เป็น ไม่ล่ะ นี่เธอเห็นมั้ยว่าเขาพูดจายังไงกับฟิลูเพื่อนฉัน เธอเห็นปากยื่นแหลมๆพูดว่า...”ยังขายโปสต์การ์ดอยู่สินะ ลูกชาย” ที่ซ่อนความหมายไว้ว่า “ลูกชายหัวทื่ออย่างบื้อ”  สาบานเลยว่า ฉันเงี้ยอยากจะตบหัวสักเปรี้ยง...ฟิลูเพื่อนฉันน่ะพ่อพระนะโว้ย เป็นคนดีเลิศที่สุดเท่าที่ฉันเคยเจอมาในชีวิต แล้วไอ้คนนั้นมันมาพูดแย่ๆใส่แบบนี้   ไอ้เชี่ยเอ้ย...”

“โธ่เว้ย ฟรองก์   หยุดสบถเสียทีได้มั้ย ฉิบหายสิ” โปแล็ตต์หงุดหงิด

อึ้งไปเลย ไอ้ไพร่


นอกจากความเผ็ดมันของบทสนทนาแล้ว  ความหวานก็มีหยอดเป็นระยะให้คนอ่านหัวใจฟูฟ่อง  คอย เอาใจช่วยไอ้เด็กน้อยในร่างผู้ใหญ่ให้ได้มีความรักดีๆที่ไม่ใช่แค่เซ็กส์บนโซฟาร้องเสี้ยงอู้อ้าลั่นบ้านสักที

สิ่งที่ทำให้คนเราอยู่ด้วยกันไม่ได้   คือความงี่เง่า   ไม่ใช่ความแตกต่าง ประโยคนี้ไม่ได้มีความหมายคับแคบแค่เรื่องรัก แต่กินรวมไปซะทุกวงการ  และนิยายเล่มนี้ไม่ใช่แค่นิยายรักและมิตรภาพทื่อๆที่ขาดความลุ่มลึก  เอาแต่ฝันหวานถึงความสุข  ถ้าจะสังเกตสักนิดจะเห็นว่าตัวละครหลักล้วนแล้วแต่ปักหมุดหมกมุ่นในสิ่งที่ตัวเองรัก  เราจึงหัวใจพองโตเมื่อเห็นความสำเร็จแม้ใบเล็กๆยอดอ่อนๆสักยอดของพวกเขาผลิบาน


เพียงเรามีกัน แค่นั้นพอ (Ensemble, c’ est tout)
Anna Galvada เขียน
อธิชา มัญชุนากร แปล

สำนักพิมพ์วงกลม , ๒๕๔๙

23 กุมภาพันธ์ 2557

หัดเดินตามเป็ด

หัดเดินตามเป็ด

เอาล่ะสิ ทีนี้เลยบินได้ แต่ก็บินได้ไม่สูง  ว่ายน้ำได้แต่ว่ายไม่แข็ง เดินได้แต่ก็ตุปัดตุเป๋

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ดีใจที่เป็นเป็ด  ขอเป็นเป็ดไล่ทุ่ง มีอิสระเสรี ไม่มีใครจับไปตุ๋นเป็นเป็ดพะโล้ก่อนก็แล้วกัน  (เจ้าเป็ดกับเด็กน้อยที่ฉันวาดก็ดูร่าเริงดีใช่มั้ย)  :)

บ่นเรื่อยเปื่อยในวันที่อากาศร้อน  วันที่หน่ายกับการนัดออดิชั่นเสียงพากย์ที่สับสนงงงวย วันที่อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง...แถมใจฉันก็ยังร้อนตามไปด้วย


14 มกราคม 2557

ประวัติศาสตร์ที่กินเข้าไปได้


เล่าไว้ใน aimmo ที่ wordpress แล้ว แต่ขอเล่าซ้ำในนี้นะคะ

ในครัว ฐานะของดิฉันมักจะอยู่ลำดับมือล้างจานที่บ้านแม่  หลังจากแต่งงาน-ย้ายมาอยู่กับคนรักกันสองคน ฉันก็ยังเป็นมือรองในครัวอยู่ดี

แต่ถึงจะเป็นมือรอง  เราก็ต้องหัดทำจานเด็ดไว้บ้าง :P

ช่วงแรกบ้านเอมโม่ก็ซื้ออาหารสำเร็จรูปมาแบ่งใส่ช่องฟรีซไว้ทยอยอุ่นกินเป็นมื้อๆนะคะ แต่หลังจากเราทั้งคู่เลิกทำงานประจำก็จัดสรรเวลาให้บ้านได้ดีขึ้น  เราอยากทำอาหารกินเองเพราะอยากประหยัด ขณะเดียวกันก็ได้กินอาหารมีคุณภาพ  ที่จริงพยายามปลูกผักกินเองด้วยค่ะ แต่ความที่วินัยต่ำ ตอนนนี้ที่บ้านเลยมีแค่ผักชีฝรั่งที่เติบโตขยายต้นดีกับโหระพาต้นเล็ก กะเพราสองต้นจิ๋วที่ยังไม่พร้อมให้เราเด็ดไปผัด

ได้แต่ปลอบตัวเองว่าค่อยๆเริ่มไปเนอะ  อย่าไปเครียด  ต้นอ่อนตายก็พยายามปลูกใหม่ซะ

อาหารจานเด็ดที่มือรองคนนี้พอทำได้ก็พวกต้มซุปไก่  ผัดสะบัดช่อที่ได้สูตรมาจากเว็บไซต์คุณพิมจากห้องก้นครัว  แต่มันก็ยังเด็ดไม่พอเพราะไม่ใช่อาหารโปรดคนร่วมบ้าน  มันเลยชวนให้ Self-Esteem ในส่วนนี้ตกต่ำ แพ้คู่ต่อสู้  (สามี) ค่ะ     บังเอิ๊ญว่าได้กะปิอร่อยมาจากแม่  นึกไปนึกมา “หมูผัดกะปิ” น่าจะเป็นจานเด็ดพอสูสีกับน้ำตกคอหมูของสามีได้เลยค้นอากู๋จนเจอสูตรของคุณชายกางแห่งพันทิป   เข้าทาง ลองทำดีกว่า

ระหว่างตำเครื่องก็นึกโรแมนติคกับเครื่องผัด เครื่องแกงค่ะ…พวกบรรดาพืชผักสมุนไพรนานาที่เอามาตำๆ ต่างกันไปตามประเภทผัดแกงนี่มันเป็นการส่งต่อการค้นพบค้นคว้าจากรุ่นสู่รุ่นลงมาเรื่อย   เป็นประวัติศาสตร์ที่กินเข้าไปได้  อิ่มเอมยิ้มแก้มปริกับประวัติศาสตร์นี้ได้ทันทีที่ได้กลิ่นหอมแล้วเคี้ยวกลืน

มือใหม่หัดทำอาหารเป็นเหมือนกันไหมคะ  โรแมนติคกับเรื่องแบบนี้ :>