ป้า Julie Garwood เป็นนักเขียนนวนิยายโรมานซ์ที่ฉันชอบมาก โดยเฉพาะเรื่องแนวย้อนยุค
(แต่เรื่องร่วมสมัยของป้าทำฉันสัปหงกตอนอ่านนะ)
นางเอกของป้ามักจะเพี้ยนนิดๆ, ตลก
แต่มีจิตใจเมตตาระดับสูงสุด
ฉันซึ่งถือว่าจะเป็นนิยายโรมานซ์ทั้งที
ฉากรักต้องอ่านชวนเคลิ้มด้วยนะ
ไม่ใช่เขียนทุกเล่มฉากรัก สเต็ป 1-2-3 แทบจะซ้ำซากเหมือนกันไปทุกเรื่อง...
เห็นว่าฉากรักของป้าก็ดี กำลังดี
ไม่น่าเบื่อเลยยิ่งสนุกอ่านนิยายป้า
ปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้
ฉันอ่านนิยายรักเกินสองร้อยเล่มจนจ่อสามร้อยไปแล้วละมัง แต่ก็ไม่ค่อยจะคิดชวนอ่านในเฟซบุค
ด้วยว่าเรื่องที่แค่อ่านเพลินก็ไม่ได้อยากเล่า
ไอ้เล่มที่ถูกรสนิยมส่วนตัวที่ชอบนิยายรักฉากรักดุเดือดก็ไม่รู้จะเล่าไปทำไม แต่พออ่านเรื่อง ”หนามกุหลาบ” (For the
Roses) ของป้าจูลี่ จบ ฉันอยากจะยกบางส่วนของนิยายเรื่องนี้มาโพสท์
(อ่านจบมาเดือนกว่าแล้วแต่ขี้เกียจพิมพ์เพิ่ง ได้ฤกษ์วันนี้) ลองอ่านเรื่องย่อจากปกหลังในรูปนะคะ เรื่องของเด็กข้างถนนต่างที่มากันมารวมตัวสร้างครอบครัวของนางเอกด้วยกันก็ทำท่าจะซาบซึ้งอยู่แล้ว ระหว่างที่ผู้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบันที่เมืองบลูเบลล์
ก็ยังมีฉากตัดสลับกับจดหมายที่ ”ลูก”แต่ละคนของมาม่าโรสเขียนถึงแม่อีก
จดหมายแต่ละฉบับในเล่มแสนจะน่ารักและทำให้ใจคนอ่านอบอุ่นไปด้วย
For the Roses งดงามด้วยหัวใจที่เปิดกว้างต่อความแตกต่าง มีเมตตา
...ถ้านิยายรักที่สมัยก่อนฉันเคยเบ้หน้าใส่จะทำให้คนอ่านอบอุ่นและเปิดหัวใจรับความแตกต่างทั้งเชื้อสาย
รูปลักษณ์ภายนอก ศาสนา ความเชื่ออย่างที่ครอบครัวนางเอกในเรื่องเป็นแล้วละก็
นิยายรักนี้ก็เทียบชั้นเท่ากับวรรณกรรมขึ้นหิ้งเหมือนกัน (ไม่นับที่เรื่องนี้ขึ้นหิ้งเฉพาะของนักอ่านนิยายรักของฝรั่งเองด้วย
Romantic Times Reviewers' Choice
Award (RT Award) for Historical Romance of the Year -1995)
ฉันขอยกบทสนทนาของครอบครัวนางเอก “แมรี่โรส”
กับ “แฮริสัน”-พระเอกที่มีเหตุให้ต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้
ณ เมืองบลูเบลล์ที่ฉันชอบมาแปะไว้ตรงนี้ (
เมืองบลูเบลล์ในเรื่อง
ได้ชื่อมาจากโสเภณีนิสัยงามของเมืองชื่อเบลล์
แต่เธอเศร้าเพราะที่จริงเธอไม่อยากประกอบอาชีพนี้และเธอสวมชุดสีฟ้าเสมอ ชาวเมืองเลยตัดสินใจตั้งชื่อเมืองตนเองว่า
“บลูเบลล์” ---เอากับเค้าสิ ฉันอ่านแล้วถูกใจเหลือเกิน)
........
แล้วเขาก็นึกได้ว่าแมรี่โรสพูดถึงการเป็นคาธอลิคในบางครั้ง เธอพูดไม่มีเหตุผล
“เดี๋ยวก่อน” เขาพูด
“คุณไม่มีทางเป็นคาธอลิคในบางครั้ง ต้องเป็นตลอดหรือไม่เป็นเลย ผมรู้ดี เพื่อนสนิทผมเป็นคาธอลิค
“แต่คุณยังคงไม่ชอบ....” โคลเริ่ม
แฮริสันไม่ปล่อยให้เขาพูดจบ “ผมไม่ได้ไม่ชอบพวกคาธอลิค ผมเพียงแปลกใจที่พบว่าคุณเป็นคาธอลิค ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น”
“ทำไมเราถึงจะเป็นคาธอลิคในบางครั้งไม่ได้” ทราวิสถาม
“เราเป็น” แมรี่โรสยืนกราน
แฮริสันติดสินใจเล่นไปตามเนื้อผ้า
เขาจะอาศัยเหตุผลและความอดทนบังคับให้พวกเขารับรู้ว่าพวกเขาจะล้อเขาเล่นไม่ได้
“ก็ได้ เอาเป็นว่าคุณเป็นคาธอลิคในบางครั้ง ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมว่าเมื่อไหร่”
“เมษายน
พฤษภาคม แล้วก็มิถุนายน” เธอตอบ
เขาไม่กะพริบตา ”แล้วกรกฎาคม สิงหาคมและกันยายนละ“
“ลูเธอแรน” ทราวิสบอกเขา
แฮริสันประทับใจ ทราวิสไม่ยิ้มแม้แต่น้อย
“แล้วสามเดือนต่อจากนั้นล่ะ”
“เราก็ต่างไปอีก เราเป็นแบบทิสต์
หรืออย่างน้อยก็พยายามปฏิบัติตามกฎพวกเขา
แฮริสันทนฟังมาพอ “แมรี่โรส คุณจะหยุด...”
เขากำลังจะถามเธอว่าเธอจะหยุดล้อเขาได้รึยัง แต่เธอไม่ยอมให้เขาพูดจบ
“ไม่
ฉันยังไม่จบ” เธอขัด “ฉันถึงไหนแล้วนะ”
“มกราคม” โคลเตือน
“เป็นยิวเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม แล้วเดือนเมษา...”
“เป็นยิวในเดือนมกราคม?” เขาแทบตะโกนออกมา
“คุณมีอะไรไม่ชอบศาสนาของพวกยิว” โคลถาม “คุณดูจะมีอะไรไม่ชอบใจอยู่เรื่อย”
แฮริสันหลับตาแล้วนับหนึ่งถึงสิบ
แล้วเขาก็พยายามหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในเรื่องนี้
“ผมไม่ได้ไม่พอใจ” เขากระชากเสียง “ผมเพียงพยายามเข้าใจพวกคุณ
พวกคุณไม่มีทางนับถือศาสนาทั้งหมดนั่นพร้อมกัน
มันขัดแย้งกับความเชื่อทั้งปวงถ้าคุณยึดมั่นในคำสอนของทุกศาสนาแค่ปีละสามเดือน”
อดัมอธิบายในที่สุด “เรากำลังเรียนรู้ศาสนาต่างๆให้มากที่สุด แฮริสัน
เราเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจและนับถือในความเชื่อของผู้อื่น คุณเชื่อไหมว่าพระเจ้ามีตัวตน”
“ผมเชื่อ”
เราก็เชื่อ” อดัมตอบ
“แต่เราไม่ได้เป็นสมาชิกของโบสถ์ไหน”
“อาจเพราะไม่มีโบสถ์ในบลูเบลล์” ดักลาสขัด
“ชาวเมืองคุยเรื่องสร้างโบสถ์ แต่พวกเขาก็เริ่มเถียงกันว่าจะเป็นแบบไหน ดังนั้นเลยไม่มีการทำอะไร”
“คุณอาจถูกเลี้ยงให้โตมาเป็นสมาชิกของโบสถ์เดียวกับพ่อคุณใช่ไหม”
“ใช่” แฮริสันรับ
“ตอนเป็นเด็กคุณคงไม่คิดเรื่องไปร่วมกับโบสถ์อื่น พวกเราไม่มีพ่อคอยชี้นำ เราทำเท่าที่เราจะทำได้
แฮริสัน”
เหตุผลของพวกเขาก็ฟังขึ้น “การศึกษาด้วยตัวเอง” เขาพูด
“และความเข้าใจ” อดัมต่อ
แฮริสันพยักหน้า “มีศาสนาต่างๆมากมาย คุณจะพยายามเรียนรู้ทั้งหมดเลยหรือ”
“แม้หลังจากเราทุ่มเทจิตใจของเรากับศาสนาหนึ่ง
เราจะยังคงเปิดใจกว้างสำหรับความเชื่อในศาสนาอื่น ความรู้คืออิสระ และความเข้าใจจะมาพร้อมอิสระ”
“มีครอบครัวยิวหลายครอบครัวในแฮมมอนด์
เราเยี่ยมเยียนพวกเขาบ่อยๆ
ชาวเมืองบางคนไม่ชอบพวกเขา
พวกเขามักไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ
บางคนถึงกับเยาะหยัน
ความไม่รู้ของพวกเขาเป็นเรื่องน่าอาย
พวกเราไม่ได้เกิดมาเป็นชาวยิว
ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเป็นชาวยิวที่แท้จริง อย่างน้อยก็ตามข้อมูลที่เราได้มาจากครอบครัวชาวยิว ประเพณีของพวกเขามีความหมายต่อพวกเขามาก
และเราพบว่ายิ่งเรารู้เรื่องความเชื่อของพวกเขามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสนใจมากขึ้น
ใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อของเขาสมควรได้รับความชื่นชม ไม่ใช่เยาะหยัน คุณเข้าใจไหม”
หนามกุหลาบ (For the Rose)
Julie Garwood : เขียน
พิชญา : แปล
สำนักพิมพ์แก้วกานต์
(ฉันอ่านฉบับแปลปี พ.ศ.๒๕๓๙ ปัจจุบันทางสำนักพิมพ์มีฉบับถูกลิขสิทธิ์พิมพ์ใหม่ ปกสวยงามไม่ชวนเขินออกมาจำหน่ายแล้วค่ะ)